องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสูงใต้ call ข้อมูลการติดต่อ account_box สมาชิกสภา account_box คณะผู้บริหาร

องค์การบริหารส่วนตำบล
หนองสูงใต้
อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

ยินดีต้อนรับ เข้าสู่เว็บไซต์ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
check_circle ขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย
บุญผะเหวด

บุญผะเหวด พระเวสสันดร
หลายคนคงจะสงสัยอยู่ว่าคำว่า “ ผะเหวด ” มีความหมายอย่างไร คำว่า“ ผะเหวด” นั้นเป็นการออกเสียงตามสำเนียงอีสาน มาจากคำว่า “พระเวส”หมายถึงพระเวสสันดร งานบุญผะเหวดเป็น 1 ในประเพณี 12 เดือน หรือ ฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน ( การทำบุญประเพณี 12 เดือน ) โดยประเพณีนี้จะจัดขึ้นในเดือน 4 ของไทยหรือเดือนมีนาคม โดยกำหนดจัดงานในวันเสาร์และอาทิตย์แรกของเดือนมีนาคมทุกปี ประเพณีบุญผะเหวดหรือบุญเดือนสี่นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนา ซึ่งชาวอีสานยึดถือและปฏิบัติกันมาช้านานและอย่างเคร่งครัด เพราะถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ที่สุดก็ว่าได้ การจัดงานบุญผะเหวดนั้นอยู่ที่การเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดกหรือเทศน์มหาชาติ จำนวนทั้งหมด 13 กัณฑ์ โดยชาวอีสานมีความเชื่อว่าถ้าหากว่าฟังเทศน์ครบทั้งหมดในวันเดียวและจัดเตรียมเครื่องคาย (บูชา) ได้ถูกต้อง ก็จะได้เกิดในศาสนาพระอริยเมตไตรย แต่ถ้าหากตั้งเครื่องคายไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอาเพศและสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ตามมา จึงทำให้ทุกคนในหมู่บ้านให้ความสำคัญกับงานนี้อย่างมาก โดยจะมาทำพิธีร่วมกันอีกประการหนึ่งคือ เพื่อระลึกถึงพระเวสสันดร พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญเพียรบารมีชาติสุดท้ายของพระองค์ก่อนจะเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในภายหลัง นอกจากการฟังเทศมหาชาติแล้ว ประเพณียังได้แฝงความเชื่อหลายประการไว้ด้วย คือ ความเชื่อในเรื่องพระอุปคุต อันเป็นพระผู้รักษาพิธีต่าง ๆ ให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นจนจบ โดยเชื่อกันว่าในการทำบุญแต่ละครั้งจะมีมารเข้ามาขัดขวางทำลายพิธี ชาวพุทธจึงต้องนิมนต์พนอุปคุตมาร่วมพิธีด้วย เพื่อช่วยขจัดอันตรายต่าง ๆ และเกิดความสวัสดิมงคลอีกด้วย การนิมนต์พระอุปคุตจะเริ่มทำก่อนวันเทศน์มหาชาติหนึ่งวัน เรียกว่า “มื้อโฮม (วันสุกดิบ” ในตอนบ่ายจะทำพิธีแห่พระเวส (พระเวสสันดร )เข้าเมือง หลังจากนั้นจะนิมนต์พระอุปคุตมาสถิต ณ บริเวณพิธี โดยมีขบวนแห่ดอกไม้ ธูป เทียน ขันห้าหรือขันแปด ไปยังสระน้ำที่อยู่ใกล้ ๆ แล้วผู้อาวุโสจะหยิบก้อนหินจากสระน้ำถาม 3 ครั้งก่อนจะนำหินมาสถิตไว้ยัง “ หอพระอุปคุต ” (สมมุติว่าหินนั้นเป็นพระอุคุต) โดยกำหนดหอพระอุปคุตเป็นศาลเพียงตา หรือทำหิ้งบูชาอยู่ในมณฑลพิธี ซึ่งจะมีเครื่องบูชาต่าง ไ ได้แก่ บาตรพระ ขันห้าหรือขันแปด ผ้าไตรจีวร พานหมากและพานยาสูบ ร่มกางกันแดด น้ำดื่มและกระโถน วางไว้ บุญผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญเทศมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสองของชาวอีสาน ตาถ้าถือเป็นเรื่องทานก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ในตำนานฮีตสิบสอง ได้กล่าวถึงการทำบุญผะเหวดไว้ว่า “ฮอดเดือน 4 ให้พากันเก็บ ดอกจาน สานบั้งไฟเสียบดอกจิก ” ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไปของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือนสาม พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลากลางเปรียญสำหรับบุญมหาชาตินี้เอง และในงานนี้ ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิ์ผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ ไปเกิดในภพพระอริยเมตไตรย์ ชาวอีสานจะจัดทำบุญผะเหวด ปีละหนึ่งครั้ง ระหง่าวเดือน 3 เดือน 4 ไปจนถึงกลางเดือน 5 โดยจะมีวันรวม ตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันตกแต่งศาลา หรือสถานที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูป เทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็ก ๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อนและเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมาร รอบ ๆ ศาลาการเปรียญจะแขวน ผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ 1 ถึงกัณฑ์ที่สุดท้าย การจัดงานประเพณีบุญผะเหวดที่ถือว่าจัดได้ยิ่งใหญ่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งจะจัดประเพณีบุญผะเหวดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี ในชื่องาน “ กินข้าวปุ้น บุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ ” ชาวร้อยเอ็ดทุกหมู่เหล่าได้จัดร้านข้าวปุ้น (ขนมจีน) พร้อมทั้งน้ำยาหลากหลายชนิด ให้ผู้มาร่วมงานได้กินฟรีตลอดงาน พร้อมจัดกิจกรรมการแข่งขันกินข้าวปุ้นเร็ว ชิงรางวัลเงินสด และถ้วยรางวัล การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การประกวดดนตรีพื้นบ้านการเทศน์มาลัยหมื่นมาลัยแสน ส่วนภาคกลางคืน จะเป็นการแสดงแสง สี เสียง ตำนานพระเวสสันดรชาดก โขนจากกรมศิลปากรเรื่อง รามเกียรติ์ และหนังตะลุง ให้ชมฟรีตลอดทั้งคืนอีกด้วย บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลคือประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาล ที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญและได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมาจนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป